ความขัดแย้งในครอบครัวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือ ความชัดแย้งที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน ซึ่งมีรากฐานสำคัญมาจากความเชื่อและไว้วางใจซึ่งกันและกัน พี่น้องที่กินนอนเล่นด้วยกันตั้งแต่เด็กจะมีความสนิทสนมมากกว่าพี่น้องที่แยกกันอยู่ เมื่อเวลาต้องมาทำงานด้วยกันการกระทบกระทั่งกัน พี่น้องที่สนิทกันก็ให้อภัยกัน ในขณะที่พี่น้องที่ไม่สนิทกันอาจไม่ให้อภัย และไม่ลืมการกระทำ และอาจจะมีการขุดออกมาต่อว่ากันเมื่อมีโอกาส
ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกที่ทำงานด้วยกันถือเป็นเรื่องของสไตล์การทำงานของแต่ละคน ถ้าสไตล์การทำงานของพ่อเป็นลักษณะผู้นำควบคุมทุกอย่าง เนื่องจากมีประสบการณ์และเคยประสบความยากลำบากมาก่อน จะใช้อำนาจการตัดสินใจและ ผลักดันลูก ๆ ให้มีทำงานตามที่ตนเองต้องการ ลูก ๆ บางคนจะรู้สึกอึดอัดและเครียด มีตัวอย่างของครอบครัวหนึ่งที่ลูกเดินออกไปจากธุรกิจเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน ถ้าพ่อเป็นคนลักษณะตามใจ จะไม่ใช้อำนาจในการบังคับแต่อาจจะสนับสนุนลูก ๆ ให้ตัดสินใจด้วยตัวเองให้ลูก ๆ ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกระยะเวลาหนึ่งก่อนตัดสินใจเข้ามาร่วมงานในธุรกิจครอบครัว ซึ่งไม่ว่าสไตล์การทำงานของพ่อจะเป็นแบบไหนก็มีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป
ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง เครือญาติ เขย สะใภ้ ก็มีความเสี่ยงให้เกิดข้อขัดแย้งได้ เช่น การต่อสู้ของพี่น้องที่ชิงความได้เปรียบในการบริหารงาน การเข้ามาทำงานของเขย หรือสะใภ้ ที่มีผลกระทบกับการทำงานของพี่น้อง การให้ความเกรงใจกันในการทำงานมากเกินไป การต่อว่าสมาชิกครอบครัวต่อหน้าพนักงาน การไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน หรือแม้แต่การที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน กินเล่นด้วยกัน เพื่อความสามัคคี แต่เมื่อต่างคนต่างแต่งงานมีครอบครัวใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องเริ่มเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อเขย หรือสะใภ้มีการกระทบกระทั่งกันก็จะลามไปถึงพี่น้อง
เรื่องความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของการเขียนข้อตกลงในครอบครัว หรือธรรมนูญครอบครัว (Family Charter) เพราะถ้าความสัมพันธ์เสียหายแล้ว เกิดความไม่ไว้วางใจกัน ไม่เชื่อใจกัน โอกาสที่จะหาข้อตกลงกันจะมีความยากขึ้นเป็นทวีคูณ เนื่องจากการเขียนธรรมนูญครอบครัวจะใช้หลักของความเห็นพ้องต้องกันของสมาชิกทุกคนในครอบครัว
ธรรมนูญครอบครัวที่ถูกเขียนโดยผู้นำครอบครัวแต่เพียงลำพัง อาจได้รับการปฏิบัติตามเฉพาะในช่วงสมัยที่ท่านยังดำรงชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเรื่องที่มีสมาชิกมีส่วนได้ส่วนเสีย และขาดข้อตกลงร่วมจากสมาชิกครอบครัวทุกคน
ธรรมนูญครอบครัวที่จะมาช่วยสร้างความสมานสามัคคีในครอบครัวได้นั้น จะต้องวางรากฐานมาจากการจัดตั้งสภาครอบครัว รวมถึงคณะกรรมการด้านธุรกิจ ที่จะมาช่วยลดบทบาทของการเผชิญหน้าระหว่างสมาชิก หรือลดความเสี่ยงที่จะมีโอกาสให้เกิดข้อขัดแย้ง คณะกรรมการสภาครอบครัวมาจากตัวแทนสายครอบครัวซึ่งถ้าสมาชิกท่านใดมีปัญหาระหว่างสมาชิกท่านอื่น ครอบครัวก็จะใช้สภาครอบครัวเป็นตัวจัดการกรณีพิพาทระหว่างสมาชิก
รวมทั้งสามารถจัดตั้งกองทุนครอบครัว เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมระหว่างครอบครัว การทำ Team Building การปลูกฝัง ถ่ายทอดค่านิยมครอบครัว การทำ Summer Camp ให้สมาชิกรุ่นใหม่ ๆ การท่องเที่ยวประจำปีของสมาชิกครอบครัวทั้งหมด และกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างรากฐานความสามัคคี ความสนิมสนม ไว้วางใจ ให้เกิดกับสมาชิกทุกคน อันจะช่วยป้องกันหรือบรรเทาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ หรือการกระทบกระทั่งระหว่างกันได้ในอนาคต
โดย ทีมที่ปรึกษา
บริษัท เฟิร์ม จำกัด ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจครอบครัวและที่ปรึกษาจัดทำธรรมนูญครอบครัว